Hair World Plus

มาตรฐานอาชีพธุรกิจเสริมสวย ตอนที่ 2

Hairworld Plus+ นำเรื่องของมาตรฐานอาชีพธุรกิจเสริมสวย โดย อ.จ๋า-ดุสิตา ศุภผลา Guest Contributors ประจำคอลัมน์ Pro.Skills นิตยสาร Hairworld Plus+ มาฝากกันเป็นตอนที่ 2 แล้ว โดยคราวนี้มาเจาะลึกกันว่ามาตรฐานอาชีพของ “กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” และ “สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ” มีรายละเอียดอะไรบ้าง

 

การสอบวัดมาตรฐานอาชีพ และมาตรฐานอาชีพธุรกิจเสริมสวยในประเทศไทย เราได้มีการจัดทำมาตรฐานไว้ 2 อาชีพ คือ ช่างผมบุรุษ และช่างผมสตรี และมี 2 หน่วยงานภาครัฐที่จัดทำไว้แล้วเสร็จพร้อมประกาศใช้และเปิดการทดสอบแล้ว คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี

ในการจัดทำมาตรฐานฯ คณะทำงานนำทีมโดย ดร.สมศักดิ์ ชลาชล สมาคมฯ ช่างผม ช่างเสริมสวย และบุคคลในอาชีพ รวมถึงตัวอาจารย์จ๋า ดุสิตา ศุภผลา และคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายๆ ท่าน ร่วมกันกำหนดมาตรฐานโดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุน และมีการนำมาตรฐานจากประเทศอื่นๆ มาเทียบเคียง และปรับให้เหมาะสมกับมาตรฐานอาชีพของไทย ทั้งภาคความรู้ ความสามารถ และการปฏิบัติงานจริง จนถึงผลงานสำเร็จ ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด มาตรฐานที่เราจัดทำสำเร็จและประกาศใช้และเปิดการทดสอบแล้ว คือ

1.มาตรฐานอาชีพของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน มีช่างผมบุรุษระดับ 1, 2, 3 และช่างผมสตรีระดับ 1, 2, 3 โดยมีศูนย์ทดสอบอยู่ทั่วประเทศ หรือต้องการเข้ารับการทดสอบหรือเปิดศูนย์ทดสอบ ติดต่อสอบถามได้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน www.dsd.go.th

2.มาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) สำนักนายกรัฐมนตรี มีช่างผมบุรุษชั้นที่ 1, 2, 3, 4 และช่างผมสตรีชั้นที่ 1, 2, 3, 4 โดยมีศูนย์ทดสอบ คือ

– โรงเรียนออกแบบทรงผมนานาชาติณรงค์ (ปทุมธานี ขอนแก่น ลำพูน สุราษฎร์ธานี)

– โรงเรียนเสริมสวยชลาชล ลาดพร้าว

– วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ

– สมาคมโรงเรียนเสริมสวยและตัดเย็บเสื้อผ้า สวนนงนุช ชลบุรี

– ศูนย์ NNP DCASH กรุงเทพฯ

ต้องการเปิดศูนย์ทดสอบหรือเข้ารับการทดสอบ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.tpqi.net.go.th

 

มาตรฐานอาชีพจากทั้งสองหน่วยงานนี้ จะกำหนดมาตรฐานอาชีพช่างผมบุรุษและสตรี ตั้งแต่ช่างสระผม ช่างไดร์ จัดแต่งทรงผม ช่างตัดผม ช่างทำเคมี และช่างเกล้าผม

สมรรถนะความรู้และความสามารถที่เกี่ยวข้องของช่างผมบุรุษ ชั้น 1, 2, 3, 4 (สคช.) ช่างผมบุรุษระดับ 1, 2, 3 (กพร.) มีดังนี้

– สระผม

– ไดร์ผมและจัดแต่งทรง

– ดูแลสถานที่ทำงานให้สะอาด ปลอดภัย

– บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ

– ตัดผม ทรงสูง ทรงกลาง ทรงต่ำ ทรงแฟชั่น

– ทำสีผม ปิดผมขาวและสีแฟชั่น

– ดัดผมแกนมาตรฐานและแกนแฟชั่น

– กันหน้า ตกแต่งหนวดเครา

– จัดทำและจัดเก็บประวัติลูกค้า

– บำรุง ซ่อมแซมอุปกรณ์และจัดเก็บผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ได้

 

สมรรถนะความรู้และความสามารถที่เกี่ยวข้องของช่างผมสตรี ชั้น 1, 2, 3, 4 (สคช.) และช่างผมสตรีระดับ 1, 2, 3 (กพร.) มีดังนี้

– สระผม

– ไดร์ผมและจัดแต่งทรง

– ดูแลสถานที่ทำงานให้สะอาด ปลอดภัย

– ม้วนแกนดัด ม้วนโรลเพื่อเซตและเกล้า

– บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ

– ให้คำปรึกษาและออกแบบทรงผม

– ตัดผม ทรงสั้น ทรงกลาง ทรงยาว

– ทำสีผม ปิดผมขาวและสีแฟชั่น

– ดัดผม (ดัดเย็น, ดัดดิจิตอล)

– ยืดผม

– เกล้าผมทรงพื้นฐานและทรงแฟชั่น

– จัดทำและจัดเก็บประวัติลูกค้า

– บำรุง ซ่อมแซมอุปกรณ์และจัดเก็บผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ได้

 

ถ้าเราสังเกตดู การแบ่งชั้นหรือระดับความสามารถของสมรรถนะทั้งสองหน่วยงานยังมีความแตกต่าง จนเกิดการลังเลในการเข้ารับการทดสอบ ยกตัวอย่างเช่น ช่างตัดซอยผมสตรีที่สามารถทำงานเคมีได้ ถ้าสอบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะได้ใบประกาศนียบัตรผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานระดับ 3 แต่ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจะได้ใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพระดับ 4 และเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ลดความลังเล สับสน มาตรฐานอาชีพธุรกิจเสริมสวยทั้งสองหน่วยงานก็ต้องมาปรับเปลี่ยนระดับชั้นให้เป็นไปตาม กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualification Framework – NQF) ภายใต้ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ซึ่งกรอบคุณวุฒิแห่งชาตินี้จะเป็นตัวเชื่อมโยงทุกกลไกทั้งภาคการศึกษา ทักษะ ความรู้ ความสามารถเชิงวิชาการและประสบการณ์หรือสมรรถนะจากการปฏิบัติงานที่เป็นแกนกลาง (Core Competence) ของบุคคล กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) นี่แหละจะเป็นกรอบที่กำหนดขอบเขตสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถต่างๆ ของทุกสาขาอาชีพ เพื่อนำไปสู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework) ในระดับ AEC ต่อไป

เห็นไหมค่ะว่าเรื่องมาตรฐานอาชีพธุรกิจเสริมสวยของเรา มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป มันเป็นเรื่องของการพัฒนาคน พัฒนาชาติ และเชื่อมโยงสู่สากล ก็คงจะรอช้าอีกไม่ได้แล้ว ฉบับหน้าจะเจาะลึกถึงมาตรฐานอาชีพของแต่ละงานให้เข้าใจกันชัดเจนขึ้น โดยจะเริ่มจากมาตรฐานฝีมือแรงงานระดับ 1 และคุณวุฒิวิชาชีพ ชั้นที่ 1 ทั้งผมบุรุษและผมสตรี

 

 

Credit : คอลัมน์ Pro.Skills (ตอนที่ 2), นิตยสาร Hairworld Plus+ Issue 19 โดย อาจารย์ดุสิตา ศุภผลา