Hair World Plus

Salon Management ดร.สมศักดิ์ ชลาชล Founder of CHALACHOL Academy

‘ทฤษฎีทำน้อยได้มาก’ หนึ่งในทฤษฎี

สร้างธุรกิจจากศูนย์สู่แบรนด์ดังที่ยั่งยืน

 

ฉบับที่แล้วเราพูดถึง ‘5 ทฤษฎี สร้างธุรกิจจากศูนย์สู่แบรนด์ดังที่ยั่งยืน’ ที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ทั้งชีวิต ที่ผ่านการลองผิดลองถูกมามากของ ดร.สมศักดิ์ ชลาชล กว่าจะได้ความสำเร็จมาครอง ในการสร้างแบรนด์ CHALACHOL จนมีวันนี้ ‘30 ปี CHALACHOL’ ซึ่งทั้งหมดได้แบ่งออกเป็น 5 ทฤษฎี ซึ่งจัดหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ดังนี้

ทุกทฤษฎีได้ถูกอธิบายอย่างละเอียด เพื่อง่ายต่อการนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการสร้างทุกธุรกิจของคุณให้สำเร็จอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ฉบับที่แล้วเราพูดถึงทฤษฎี ‘3 จ. จริงจัง จริงใจ เจนจัด’ ไปแล้ว วันนี้ถึงคิวของทฤษฎีที่สี่

ทฤษฎีทำน้อยได้มาก

การทำน้อยได้มาก หมายถึง การทำงานอย่างชาญฉลาด ใช้ความรู้มากกว่ากำลัง ทฤษฎีนี้ถูกใช้ในการพัฒนาธุรกิจ “ชลาชล” ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีผลลัพธ์อย่างที่เราได้เห็นกันในวันนี้ ซึ่งทฤษฎีนี้สามารถอธิบายให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ดังนี้

 

  1. ทำหนึ่ง ได้เป็นร้อย

ความพึงพอใจของลูกค้า คือ ความสำเร็จในธุรกิจซาลอน หากร้านทำผมใดสามารถตอบสนองความพึงพอใจนี้ได้ ก็จะยิ่งทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จะเกิด “Word of Mouth” หรือ “การบอกปากต่อปาก” หมายถึง หากเราทำให้ลูกค้าประทับใจได้หนึ่งคน นั่นหมายความว่า จะมีเพื่อนหรือคนใกล้ตัวได้รับการบอกต่อจากลูกค้าท่านนี้ และหากเรามีลูกค้าที่พึงพอใจในบริการของเราเช่นนี้ 100 คน ลองคำนวนดูสิว่า ในระยะเวลาอันสั้นชื่อเสียงของแบรนด์จะเป็นอย่างไร

  1. ทำน้อย ได้มาก

กลยุทธ์นี้ถูกนำมาใช้ในรูปแบบการขยายสาขาของร้าน ‘ชลาชล’ เริ่มต้นที่ ดร.สมศักดิ์ ชลาชล เกิดความคิดในวันหนึ่งขณะยืนตัดผมลูกค้าวันละ 60 หัวในตอนนั้น ความคิดดีๆ แล่นเข้ามาในหัว คำถามที่เกิดขึ้นคือ ถ้าเรายกกรรไกรขึ้นตัดผมลูกค้า 1 หัว แต่เราได้เงินเข้ามาจากหลายๆ ทางมันจะดีกว่านี้มากมั้ย ในตอนนั้น การตัดผมวันละมากๆ รายได้ที่เข้ามามันก็มาก แต่ถ้าวันใดที่เราล้มป่วย ไม่สามารถมาตัดผมได้ เท่ากับว่ารายได้ก็หยุด แต่ถ้าเราพัฒนาให้มีรายได้เข้ามาทีละหลายๆ ทาง หรือเราไม่มาตัดผมก็ยังมีรายได้จากทางอื่นเข้ามาอยู่มันน่าจะดีกว่าไม่น้อย ความคิดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำน้อยได้มาก

“ชลาชล” เริ่มต้นกับระบบแฟรนไชส์ในตอนแรกด้วยการจับมือกับลูกค้าประจำที่ถูกใจและไว้ใจในชลาชลมาโดยตลอด โดยการขยายสาขาของชลาชลเข้าห้างสรรพสินค้า เป็นจุดเริ่มต้นของร้านซาลอนในห้างสรรพสินค้า

เคยมีคำถามว่า เพราะเหตุใดร้านชลาชลจึงเป็นร้านทำผมที่ขยายสาขามากเช่นนี้

ดร.สมศักดิ์ ชลาชล ให้เหตุผลว่า เหตุผลแรก เรามองถึงการสร้าง Service (บริการ) เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย ใกล้ที่ไหน ใช้บริการที่นั่น มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ และงานบริการที่ชลาชลมอบให้ได้มากขึ้น เหตุผลที่สอง การขยายสาขาตอบโจทย์ที่เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะดีกว่ามั้ยถ้าเราตัดผมหัวเดียว แต่มีรายได้เข้ามาจากหลายทาง หรือวันที่เราป่วยตัดผมไม่ได้ แต่รายได้ยังไหลเข้ามาจากหลายที่ และแน่นอนการที่ชลาชลมีสาขาที่มาก เราได้พัฒนาช่างทำผมให้มีความสามารถ มีความเก่งเท่าเทียมเรา เพื่อคอยให้บริการลูกค้าจากทุกๆ สาขา นั่นจึงนำพามาซึ่งการเจริญเติบโตทางธุรกิจ แบรนด์ได้เป็นที่รู้จักในสังคม ชื่อเสียงจากการบริการที่ถูกใจลูกค้า ทำให้ชลาชลกลายเป็นซาลอนที่มีคนดังในทุกวงการไว้ใจให้ดูแลทรงผม

  1. สร้างสรรค์ จะได้ทวีคูณ

“สร้างสรรค์ จะได้ทวีคูณ” คำนี้เป็นการตกผลึกเรื่องราวการทำงานที่ ดร.สมศักดิ์ ชลาชล พูดให้พนักงาน และคนใกล้ตัวฟังอยู่เสมอ

“อย่าคิดว่าอาชีพช่างทำผม มีหน้าที่แค่ตัดผม เพราะถ้าคุณทำได้แค่นั้น คุณก็ไม่มีความแตกต่างจากคนอื่นๆ สิ่งที่ช่างทำผมของชลาชลทุกคนต้องมีคือความ Creative (สร้างสรรค์) ผมที่เราจะตัดในแต่ละครั้ง เราต้องครีเอทีฟแล้วว่า ทรงไหนเหมาะกับใคร ลูกค้าคนนี้มีอาชีพอะไร เส้นผมเป็นลักษณะไหน กะโหลกมีรูปร่างยังไง การแต่งตัวเขาเป็นสไตล์ไหน ตัดผมทรงไหนให้เขา ถึงจะช่วยเพิ่มเสน่ห์ เติมความมั่นใจให้เขาดูโดดเด่น เป็นที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับอาชีพ และสังคมที่เขาใช้ชีวิต การครีเอทีฟคือสิ่งที่ทำให้คุณเป็นช่างทำผมที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบคุณได้ แม้จะมีใครพยายามลอกเลียนแบบ ก็ไม่สามารถทำได้ดีเท่าตัวจริง การครีเอทีฟจึงเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าในสิ่งที่คุณทำได้มากทวีคูณ”

 

3 มิติของทฤษฎีทำน้อยได้มาก ส่งผลให้องค์กรมั่นคง คนทำงานมั่งคั่ง และสามารถบริการลูกค้าได้ทั่วถึง ซึ่งธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถนำหลักทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีได้เช่นกัน

 

ติดตามทฤษฎีสุดท้ายได้ในฉบับหน้า ท่านใดมีคำถาม มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริหารซาลอน หรือการบริหารธุรกิจอื่นๆ สามารถ Inbox มาพูดคุยสอบถามโดยตรงได้ที่ www.facebook.com/somsak-chalachol หรือทางแฟนเพจ CHALACHOL